หน้าแรก » สาระน่ารู้ » ใครเล่าเลยจะรู้ว่าในช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพ สิ่งที่ในหลวง ร.9 ทรงอยากทำคืออะไร
สาระน่ารู้
อัพเดทล่าสุด 20 มิถุนายน 2561 , ยอดผู้ชม 675

ใครเล่าเลยจะรู้ว่าในช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพ สิ่งที่ในหลวง ร.9 ทรงอยากทำคืออะไร

ใครเล่าเลยจะรู้ว่าในช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพ สิ่งที่ในหลวง ร.9 ทรงอยากทำคืออะไร...


     เดือนกุมภาพันธ์ 2555 ในหลวงประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช วันหนึ่งมีรับสั่งให้คณะองคมนตรีเข้าเฝ้าฯ และตรัสว่า “ฉันจะตั้งกองทุนการศึกษา ให้เอาเงินฉันไปใช้ ไปทำอย่างไรก็ได้ เป้าหมายคือให้โรงเรียนสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง” แล้วมอบหมายให้องค์มนตรีที่ยังแข็งแรงอยู่ช่วยออกไปรีเสิร์ช หาโรงเรียนตัวอย่างเพื่อให้รู้ถึงปัญหา ที่สำคัญคือให้ทำเรื่องนี้อย่างเงียบๆ ไม่ต้องแจ้งผ่านทางหน่วยงานใดๆ ให้ไปอย่างผู้ใหญ่ใจดี ไปรถคันเดียว เพื่อที่จะได้ประหยัดเวลาและได้ข้อมูลที่แท้จริง หลังจากนั้นคณะองคมนตรีจึงสรรหาโรงเรียนเข้าโครงการ‘โรงเรียนคุณธรรมจริยธรรม’ ได้ประมาณ 155 โรงเรียนทั่วประเทศ จึงมีรับสั่งว่า ทรงมีเงินที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายมามาก อยากจะนำคืนให้กลับประชาชน แต่ขอให้ทำในสิ่งที่ประหยัด ใช้วัสดุในพื้นที่ แต่ให้คงทนแข็งแรง ประการแรกที่โปรดฯ ให้ทำคือบ้านพักครู โดยให้เลือกบ้านพักครูที่แย่ที่สุดก่อนแล้วสร้างให้เขาใหม่ ประการที่ 2 คือปรับปรุงห้องน้ำครูและนักเรียน และประการต่อมาคือ ห้องเรียนที่ชำรุด หลังคารั่ว โต๊ะเรียน เก้าอี้ โดยให้มารับเงินที่พระองค์ไปใช้... ท้ายที่สุดในหลวงรับสั่งให้เลือกเด็กโรงเรียนละ 2 คน ทรงอยากให้ส่งให้เขาเรียนจนจบเท่าที่จะเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นปริญญา-โท-เอก ก็แล้วแต่เขา แต่ขอให้นำความจากพระองค์ท่านไปบอกเด็กว่า มีพระราชประสงค์ที่จะเห็น ‘เด็กที่เรียนดีนั้นเป็นคนดีด้วย’ เช่นเดียวกันกับครู ทรงอยากให้ครูอยู่สบาย อยากอยู่ในโรงเรียนห่างไกล เพื่อที่เด็กๆ ในชนบทจะได้มีครูดีๆ สอนให้เป็นคนดี จึงมีรับสั่งให้คัดเลือกครูที่เก่ง ขยัน โดยจะพระราชทานเงินพิเศษหรือส่งเรียนต่อเพื่อให้มีความรู้เพิ่มเติม เพียงแต่ต้องสัญญาว่า อย่าทิ้งเด็ก อย่าทิ้งโรงเรียนที่ห่างไกลเหล่านั้น... สำหรับกองทุนนี้ ในช่วงแรกในหลวงได้พระราชทานเงินจำนวน 200 ล้านบาท พร้อมกับรับสั่งว่า "หมดเมื่อไรก็บอก" ช่วงปีหลังๆ องคมนตรีก็ไม่กล้าไปกราบทูลว่าเงินหมดแล้ว เมื่อสมเด็จฯ พระเทพทรงทราบก็มีรับสั่งภายหลังว่า อย่าไปกวนในหลวงเลย ถ้าเงินหมดเมื่อใดให้มากราบทูลพระองค์ ซึ่งก็พระราชทานมาเป็นระยะๆ นี่คือสิ่งที่ในหลวงทรงทำเป็นลำดับท้ายๆ อาจเป็นเพราะทรงเล็งเห็นแล้วว่า ประเทศนี้ยังคงต้องการบุคลากรครูที่ดี ที่จะช่วยกันสร้างเมล็ดพันธุ์ที่เก่งและเป็นคนดี เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และจะนำพาให้ความสุขบังเกิดขึ้นแก่ประชาชนคนไทย...ประชาชนของในหลวง ร.9
#สานต่อที่พ่อทำ
เรียบเรียงจาก ปาฐกถาของ พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี งานครบรอบ 36 ปีแห่งการสถาปนาสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จาก Facebook ดนัย จันทร์เจ้าฉาย, ปาฐกถาเฉลิมพระเกียรติเรื่องแนวพระราชดำริด้านการศึกษากับอนาคตประเทศไทย โดย ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี
ทำไมเราถึงน้ำตาไหลเมื่อ เห็นในหลวง      จากการค้นคว้าวิจัย ศ.ไฮด์ทค้นพบ สิ่งที่เขาเรียกว่า “Elevation” ซึ่งผู้เขียน ขอแปลว่า “ปีติ” อันมีนิยามว่า “ความรู้สึกอบอุ่นใจ ซาบซึ้งประทับใจ และการรู้สึกว่าจิตได้รับการยกขึ้น”
ศ.ไฮด์ทกล่าวว่า สภาวะ “ปีติ” นี้ จะเกิดขึ้นเมื่อเรา “ได้เห็นผู้อื่นทำความดี แสดงความเมตตากรุณา หรือความกล้าหาญ” “ปีติ” ไม่ได้เพียงแค่ทำให้เราน้ำตาไหลเท่านั้น แต่ศ.ไฮด์ทค้นพบว่ามันส่งผลให้เรา “ลงมือทำ” อะไรบางอย่างต่อไปด้วย! ผลที่ตามมาของ “ปีติ” ศาสตราจารย์ไฮด์ทอธิบายว่าเมื่อภาวะ “ปีติ” นี้เกิดขึ้นกับใคร มันจะส่งผลให้ผู้นั้น
๑) อยากช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง
๒) อยากเป็นคนที่ดีขึ้นมีคุณธรรมขึ้น และ
๓) ทำให้เกิดความต้องการที่จะมีส่วนร่วม หรือผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับบุคคลที่ทำให้เรา เกิดความ “ปีติ” นั้นด้วย
ฟังแล้วยิ่งขนลุกและรู้สึกขึ้นมาว่า “ใช่เลย!” ถึงแม้วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมแค่ได้เห็นเพียงรถพระที่นั่งพร้อมธงประจำ พระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กำลังเคลื่อนที่มาช้า ๆ พวกเราคนไทยก็เกิดปีติ ตื้นตันน้ำตาไหลได้แล้ว แต่พุทธศาสตร์ สามารถอธิบายได้ นั่นคือ จิตมนุษย์นั้นเป็น “ธาตุรู้” พูดง่าย ๆ ก็คือ จิตเราสามารถ “รับรู้” ได้ถึง “พระเมตตา” ที่มีต่อพวกเราตลอดมาทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
ไม่ว่าในวินาทีนั้นสายตาเราจะกำลังเห็นภาพของพระเมตตาอยู่หรือไม่ก็ตาม! พระเมตตานั้นลึกซึ้งกว่าที่เราเห็นด้วยตาจากพระราชกรณียกิจที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงช่วยราษฎรตามถิ่นทุรกันดาร มากมายนัก เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง“เจริญเมตตาภาวนา” ให้พสกนิกรและสรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่เสมอด้วย“จิต” รู้ แม้ “สมอง” ยังไม่รู้! เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงยอมสละความสะดวกสบาย ส่วนพระองค์งดพระกระยาหารเย็น งดเว้นมหรสพ ในวันพระรักษาศีล เจริญภาวนา เพื่อที่จะทรงอธิษฐาน “ยกส่วนบุญกุศลนั้น ให้ประชาชนทุกคน” มาเป็นเวลาหลายสิบปีนั้น “จิต” ซึ่งเป็นธาตุรู้ของพวกเราต้องรับรู้ได้แน่นอน “จิต” ของพวกเราทุกคนได้รับพระเมตตาและพระกุศลที่ทรงอุทิศให้พวกเรามาโดยตลอด ดังนั้น จิตจึง “รู้” และ “จำได้” ถึงแม้ “สมอง” ของพวกเราจะยังไม่เคยทราบเรื่องราวเหล่านี้มาก่อน ก็ตาม! และนั่นคือคำอธิบายทางพุทธศาสตร์ ว่า “ทำไม..เราถึงตื้นตัน น้ำตาไหล เมื่อเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”