หน้าแรก » สาระน่ารู้ » รู้จัก 3 เทคนิค วิธีคิดจากทฤษฎี Constructionism เพื่อพิชิตการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด
สาระน่ารู้
อัพเดทล่าสุด 10 มีนาคม 2566 , ยอดผู้ชม 1013

รู้จัก 3 เทคนิค วิธีคิดจากทฤษฎี Constructionism เพื่อพิชิตการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด


Constructionism’ คืออะไร?

‘Constructionism’ คือ การเน้นให้ผู้ศึกษาสร้างการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Learning by doing) และนำไปต่อยอดพัฒนาหรือประยุกต์ใช้เข้ากับความรู้ในแขนงอื่น ซึ่งหากคนที่ได้เคยศึกษาเกี่ยวกับวิธีการจัดการเรียนการสอนคำนี้อาจจะพอคุ้นหูกันอยู่บ้าง โดยทฤษฎีนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดย Professor Seymour Papert นักคณิตศาสตร์หนึ่งในผู้ริเริ่มปัญญาประดิษฐ์จาก M.I.T. 

โดยคุณ Papert ได้นำทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง  (Constructivism) จากนักจิตวิทยาทั้ง 2 ท่าน อย่างคุณ Jean Piaget และคุณ David Ausubel ที่กล่าวถึงการเชื่อมโยงความรู้ผ่าน Cognitive apparatus ซึ่งคุณ Papert ได้นำมาดัดแปลงเข้ากับการเรียนรู้ผ่านสื่อและเทคโนโลยีให้องค์ความรู้นั้นออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น  กลายเป็นแนวคิดด้านการเรียนรู้ใหม่ จนกลายมาเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านชิ้นงาน หรือ  ‘Constructionism’ นั่นเอง

ซึ่งการเรียนรู้แบบ Constructionism มาจาก 2 กระบวนการ คือ การแปลความหมายของสิ่งที่ได้เรียนรู้มา จนสามารถนำไปสร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นได้ด้วยตนเอง และได้รับประสบการณ์การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง จนนำไปสู่การพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยทั้งกระบวนการทั้งสองนี้มาจากรากฐานการเรียนรู้นี้มาจากการเรียนรู้แบบ Learning by doing แทนที่จะพยายามยัดเยียดความรู้เข้าไปเพียงอย่างเดียว

การเรียนรู้แบบ Learning by doing ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การรับสารอย่างการอ่านหรือรับฟังเพียงอย่างเดียว การเรียนรู้แบบนี้ยังรวมถึงการสังเกตอิริยาบถและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ อีกด้วย แม้ในการเรียนรู้นั้นจะพบเจอกับข้อผิดพลาดบ้าง แต่ก็สามารถที่จะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั้น และพยายามแก้ไขจุดที่บกพร่องซ้ำไปเรื่อย ๆ จนสามารถหาวิธีการแก้ปัญหานั้นได้ซ้ำเสร็จ กลายมาเป็นความรู้ใหม่ที่เราค้นพบด้วยตัวเองและช่วยให้เราเริ่มสังเกตความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น 

แล้วเราควรฝึกฝนให้เราเข้าใจความรู้ใหม่ ๆ แล้วนำไปต่อยอดได้ยังไงดี ? หากคุณเริ่มอยากลองวิธีการเรียนรู้แบบ Constructionism นี้แล้ว ไปดู 3 เทคนิค ที่จะช่วยให้เราพัฒนาตัวเราให้แสวงหาความรู้ด้วยตัวเองกัน

3 เทคนิค พิชิตการเรียนรู้แบบ Constructionism มีอะไรบ้าง ?

1. เข้าใจจุดแข็งและยอมรับจุดอ่อนของตัวเอง

เมื่อเรารู้ว่าตัวเรามีความสามารถตรงไหนเป็นพิเศษ และพยายามนำมาอุดจุดอ่อนที่เปราะบาง ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ เช่น ที่ประชุม หรือต้องนำเสนองาน เพราะเรารู้สึกกดดันหรือมีประสบการณ์ที่ไม่ดีมาก่อน แต่เราเป็นคนที่ขยันอดทน หากมีเป้าหมายก็อยากจะทำให้สำเร็จ ดังนั้นเราลองตั้งจุดอ่อนนั้นให้กลายเป็นเป้าหมายแทน ยอมรับจุดอ่อนของตัวเองนี้ได้ กล้าเผชิญหน้า และหมั่นฝึกซ้อมทำซ้ำเดิมต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพื่อเอาชนะเป้าหมายนั้น สุดท้ายแล้วเราจะค้นพบวิธีที่ช่วยให้เราคลายกังวลในแบบของเราเอง

หากยังไม่รู้ว่าจุดแข็งและจุดด้อยของตัวเองคืออะไร สามารถนำการวิเคราห์ขั้นเบสิคที่สุดอย่างการวิเคราะห์  SWOT ที่ใช้ทางด้านธุรกิจมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการวิเคราะห์ตัวตนของเราได้ ซึ่งการทำ SWOT Analysis นั้นกับตัวเราประกอบไปด้วย

  • S : Strength - จุดแข็งหรือข้อแตกต่างของตัวเราเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น เช่น พรสรรค์ ทักษะที่เราเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็น Hard Skills หรือ Soft Skills ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นข้อแตกต่างให้เราโดดเด่นขึ้น
  • W : Weakness - จุดอ่อนหรือจุดที่เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นข้อเสียเปรียบขอตัวเราเมื่อเทียบกับคนอื่น อาจจะเป็นการที่เราไม่ถนัดในการทำหรือคิดอะไรบางอย่างก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าสิ่ง ๆ นั้นเป็นข้อด้อยของตัวเราที่อยากจะพัฒนา
  • O : Opportunity - สถานการณ์หรือช่วงเวลาที่เป็นโอกาสที่สามารถช่วยให้เราเริ่มพัฒนา หรือแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น แล้วเราอยากจะไขว้คว้าโอกาสที่เข้ามาเหล่านั้นไว้
  • T : Threat - อุปสรรคที่ขัดขวางที่ขัดขวางเป้าหมายของเรา หรือส่งผลกระทบแง่ลบต่อตัวเรา

เมื่อทำการวิเคราะห์ SWOT กับตัวตนของเรานั้น ทำให้เรามีภาพจุดแข็งของตัวเราได้ชัดเจนขึ้น รับรู้ว่าจุดไหนเป็นจุดอ่อนที่อยากจะแก้ไข และควรจะเปิดรับโอกาสแบบไหนเพื่อที่จะช่วยส่งเสริมให้จุดแข็งของเรานั้นมีความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึงจะเป็นโอกาสที่เราได้พัฒนาจุดอ่อนของเรา นอกจากนี้ เมื่อเรารับรู้ว่าสิ่งใดเป็นอุปสรรคต่อเรา เราจะได้เตรียมรับมือและป้องกันสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง

2. เริ่มวางความคิดอย่างมีระบบ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับฐานความรู้เดิม

ในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ เจอกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย หรือความรู้ใหม่ที่พึ่งพบเจอที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง การคิดอย่างเป็นระบบนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้เราทำความเข้าใจกับสิ่งนั้นได้อย่างถ่องแท้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำในระยะยาว ทำให้เรานำความรู้และประสบการณ์ใหม่มาเปรียบเทียบหาความสัมพันธ์หรือนำมาผูกกับความรู้เดิมที่เรามีอยู่ได้ดียิ่งขึ้น การจัดการความคิดอย่างเป็นระบบยังช่วยในเรื่องของการพูดและการกระทำ สามารถรับมือ แก้ไขปัญหาและส่งเสริมการแสดงออกให้ไปในทิศทางเดียวกันกับคำพูดได้อีกด้วย 

เราสามารถส่งเสริมกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ หรือ Systematic Thinking ได้โดยเริ่มจาก

  • หยุดตีกรอบความคิดแบบเดิม ๆ ลองเปิดโอกาสที่จะรับรู้มุมมองใหม่อยู่เสมอ ซึ่งอาจจะอิงจากฐานความรู้เดิมที่เรามีอยู่
  • เริ่มที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งนั้น พร้อมหาเหตุผลหรือทางเลือกต่าง ๆ ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น เช่น การเปรียบเทียบข้อแตกต่างของผลลัพธ์ หรือนำข้อเท็จจริงมาประกอบการตัดสินใจ
  • เชื่อมโยงใจความออกมาเป็นโครงสร้าง เพื่อดูความสัมพันธ์และทิศทาง อาจทำในรูปของ Mind Map ซึ่งเมื่อเราเข้าใจที่มาและความสัมพันธ์เหล่านั้นจะช่วยให้เราสามารถจดเรื่องราว หรือนำไปผูกกับความรู้เดิมที่เรามีอยู่ได้
  • ฝึกที่จะเตรียมการล่วงหน้าในบางสิ่งที่สามารถคาดเดาได้ พยายามมองผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากแต่ละทางเลือก ซึ่งอาจมาจากประสบการณ์ในอดีตที่ตัวเราเองพบเจอ

พอเราสามารถคิดเป็นระบบได้อย่างเป็นธรรมชาติแล้ว จะช่วยให้เราสามารถคิดได้เร็วมากขึ้น จากการที่เราเข้าใจความรู้นั้น ๆ อย่างถ่องแท้ มีความรอบคอบ ก้าวทันปัญหาต่าง ๆ และยังสามารถช่วยในเรื่องของการบริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

3. เรียนรู้วิธีแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองอย่างเหมาะสม

หากเราเป็นคนที่ไม่ชอบการอ่าน หรือไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรนาน ๆ ได้ ลองปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเรามากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยถกประเด็นกับผู้อื่น ดูคลิปวิดีโอหรือหนังให้ความรู้ หรือเรียนรู้จดจำเนื้อหาที่เป็นรูปภาพ เช่น เราอยากเรียนรู้ภาษาใหม่ แต่เรารู้ดีว่าตัวเราไม่สามารถนั่งท่องจำคำศัพท์นั้นจากหนังสือได้ เลยลองเปลี่ยนวิธีมาเป็นดูหนังที่ใช้ภาษานั้น พร้อมอ่านคำบรรยาย เพื่อให้เราคุ้นชินกับสำเนียงหรือบทสนทนา หรือฟังเพลงภาษานั้นแล้วหาความหมายของเนื้อเพลงนั้นแทน เพราะเหมาะกับวิธีการเรียนรู้ของเรามากกว่า หรือหากต้องการหาความรู้เฉพาะด้านแต่ไม่ชอบที่จะอ่าน  อาจจะลองใช้วิธีการฟังแทนอย่างการฟัง Podcast หรือ Audio Book ต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคชั่น Audible แทน

เมื่อเราได้วิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเราแล้วนั้น การจดจำความรู้นั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้ต่อ สามารถฝึกฝนการจดจำความรู้ที่ได้รับมาต่าง ๆ ให้ดีขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น

  • ระหว่างอ่าน ฟัง หรือดู พยายามจดจ่อกับสิ่งตรงหน้าและคิดตามไปกับความรู้นั้นให้มากขึ้น เพื่อให้ความรู้ที่เราเก็บเกี่ยวอยู่ถูกจัดเก็บไว้ในความทรงจำได้อย่างถูกต้องชัดเจน และสามารถดึงความรู้ออกมาใช้ต่อได้ในภายหลัง
  • ลองเขียนสรุปสิ่งที่เราได้เรียนรู้มา เพื่อระลึกย้อนกลับไปในความทรงจำนั้น แล้วนำสรุปนั้นมาอ่านทบทวนซ้ำ ซึ่งในตอนที่ทำสรุปนั้นอาจจะจัดกลุ่มของข้อมูล หรือวาดความสัมพันธ์ความเชื่อมโยงกันเพิ่มลงไปด้วย
  • นำคำบางคำหรือประโยคบางอย่างที่มีความหมายเดียวกัน หรือตรงกันกับความรู้เดิมของเรามาผูกเข้าไว้ด้วยกันในแบบของตัวเรา

การที่เป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่แค่เราอาจจะไม่เหมาะกับวิธีการเรียนรู้แบบนั้น เมื่อเราหาวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเราเจอ เพียงเท่านี้เราก็สามารถเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ได้ในแบบของตัวเอง พร้อมทั้งช่วยให้เราสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีและถาวรมากยิ่งขึ้นอีกด้วย